บิน DJI Mini 3 Pro ทำแผนที่ด้วย Dronelink

ลงทะเบียนกับ DroneLink และจ่ายเงินค่าบริการ

จากที่ SDK (Software Development Kit) ของ DJI ปล่อยมาไม่นาน Dronelink เป็นเสือปืนไว ปล่อยแอพรุ่นเบต้ามาให้ทดลองได้ก่อนเพื่อน ทำให้ผมตัดสินซื้อแพ็คเกจแบบงานอดิเรก (Hobbyist) ไป 49.99 US$ ถ้าสมมุติไม่ล้มหายตายจากกัน ใช้ไปสัก 10 ปี ปีละ 169 บาทถือว่าคุ้มค่า เมื่อจ่ายเงินแล้วสามารถใช้ browser Log-in เข้าไปที่เว็บของ Dronelink แล้วสร้าง waypoints สำหรับเอาไว้บินทำแผนที่ได้

โดรน DJI Mini 3 Pro กับรีโมล DJI RC

ดั้งเดิม DJI Mini 3 Pro ที่ผมซื้อชุดไม่คอมโบประมาณปีกว่าๆที่ผ่านมา มีแบตหนึ่งก้อนมากับรีโมทคอนโทรลแบบมีหน้าจอชื่อรุ่นคือ DJI RC ราคาตอนซื้อ 29000 บาท สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมหลังจากได้โดรนแล้วคือต้องลงทะเบียนกับกสทช.และกรมการบินพลเรือน ให้ได้ใบอนุญาตมาให้เรียบร้อย รวมทั้งประกันภัยด้วย

ชื่อรุ่นรีโมทคอนโทรลของ DJI นับว่าสร้างความสับสนให้พอสมควร ยังมีรีโมทคอนโทรลรุ่นแบบมีหน้าจอได้แก RC Pro, RC Plus, PC Pro Enterprise, Smart Controller, Crystal Sky และที่ไม่มีหน้าจอคือ DJI RC-N1

รีโมทคอนโทรลที่ผมใช้ติดมากับโดรนแบบมีหน้าจอคือ DJI RC รันด้วยระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์ที่ทาง DJI ปรับแต่งมาแล้ว เท่าที่อ่านได้ความว่าเป็นเครื่องที่มีทรัพยากรน้อยมากเช่นหน่วยความจำแรม cpu เข้าใจว่าทาง DJI คงต้องการปรับให้มีราคาถูกที่สุด แล้วทาง DJI ก็บล็อคไม่ให้ติดตั้งแอพอื่นนอกจาก DJI Fly ของตัวเอง

DroneLink + DJI Mini 3 Pro + RC-N1

จากที่อ่านเอกสารของ Dronelink ในตอนแรก ถ้าจะใช้รุ่น DJI Mini 3 Pro จะต้องหารีโมทรุ่น DJI RC-N1 แบบไม่มีหน้าจอ ผมสั่งมือสองมาราคาสองพันบาทอยู่ในสภาพดีพอสมควร

DJI RC-N1

จับคู่ DJI Mini 3 Pro และ DJI RC-N1

การ pair ตัวโดรนเข้ากับรีโมทคอนโทรลก็ไม่ยาก โดยต้องใช้แอพ DJI Fly ไว้ด้วย แอพตัวนี้ไม่ได้ปล่อยออก Google play store ต้องไปดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของ DJI แล้วติดตั้งแบบแมนวล ค้นหาคลิปในยูทูปการ pair โดรนทำตามคลิปที่คนทำไว้หลายคลิป

หลังจาก pair เข้ากันแล้วปิดแอพ DJI Fly แล้วสามารถเปิดแอพ Dronelink มาใช้งานได้ ในแอพถ้าเห็นรูปจากกล้องของโดรนจากแอพ Dronelink แสดงว่าพร้อมใช้

จับคู่โดรน DJI Mini 3 Pro กับรีโมทคอนโทรล RC-N1

สร้างเส้นทางบิน (Waypoints) ด้วย Dronelink

การสร้าง waypoints สำหรับบินถ่ายรูปทางอากาศ สามารถเข้าเว็บของ Dronelink ได้จากโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตหรือที่สะดวกที่สุดคือใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะหรือคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คเพราะหน้าจอใหญ่ ดูง่าย

หน้าแรกของเว็บแอพ DroneLink

การสร้าง waypoints สำหรับบินทำแผนที่ผมใช้เมนูย่อยชื่อ Maps เมื่อเลือกเข้าไป โปรแกรมจะสร้างเทมเพลทให้ เป็นสี่เหลี่ยม เราสามารถลากขยับสี่เหลี่ยมไปทั้งชุดไปตรงที่เราต้องการ ขยับมุม เพิ่มมุมได้สบาย ง่ายมาก

เมนูย่อยสำหรับสร้างเส้นทางบิน (waypoints)
เลือก “Maps” ต้องการสร้างเส้นทางบินแบบอัตโนมัติ เริ่มต้นจากเทมเพลทสี่เหลี่ยม

ปรับพารามิเตอร์ตามที่ต้องการ

แล้วป้อนค่าพารามิเตอร์ว่าต้องการบินสูงเท่าไหร่ ต้องการ overlap sidelap เท่าไหร่ก็ป้อนเข้าไป ในที่นี้ผมตั้งความสูงไว้ 50 เมตร ตั้ง overlap และ sidelap ไว้ที่ 80% มีหลายฟังก์ชั่นที่แพ็คเกจที่ผมซื้อยังทำไม่ได้เช่น ปรับมุมกิมบอล ตั้งให้เส้น waypoints เป็นกริตตารางในกรณีต้องการบินทำโมเดล 3D แต่เท่าที่มีผมก็พอใจ อย่างบินเป็นตารางกริด เราก็ต้องสร้าง waypoints เป็น 2 ชุด ชุดหลังให้เส้นแนวบินตั้งฉากก็ชุดแรกก็แก้ปัญหาได้

ปรับแต่งเส้นทางบิน
ปรับแต่งเส้นทางบินให้ตั้งฉากกับชุดแรก เพื่อบินแบบสร้างโมเดล 3D

เมื่อมาเปิดแอพ Dronelink จากโทรศัพท์มือถือจะเห็นเส้นทางบิน waypoints ที่เราแก้ไขในเว็บ ข้อมูลจะฝากไว้ที่คลาวด์ของ DroneLink ทำให้สะดวก ตรงไหนมีสัญญานอินเทอร์เน็ตก็ดึงมาใช้ได้ทันที

แรกทดสอบ Dronelink + DJI Mini 3 Pro

เมื่อทุกอย่างพร้อม ผมก็เริ่มทดสอบจากพื้นที่บริเวณแคมป์ก่อสร้าง เมื่อเอาโดรนขึ้นโดยแอพ Dronelink ประมาณ 10 เมตร ผมก็กดปุ่ม “Play” เพื่อบิน waypoints ที่ตั้งไว้ ตอนนี้แอพเตือนหลายอย่าง อย่างแรก “Obstacle Avoidance Not Supported” ก็หมายความว่าไม่สนับสนุนระบบกันชน และให้ข้อมูลอีกว่าถ้าต้องการควบคุมโดรนโดยใช้รีโมทก็กดที่ปุ่มหยุด (Pause) บนแอพหรือกดปุ่มโหมด F หรือ S บนรีโมทคอนโทรล

เมื่อโดรนขึ้นไปที่ความสูงประมาณ 30 เมตรยังไม่ได้เข้า waypoints แรกเลย แอพก็แครชทักทายกันก่อนเลย

ผมเปิดแอพมาอีกครั้ง กดปุ่ม “Play” อีกครั้ง แอพถามว่าต้องการ “Load” waypoints ชุดเดิมหรือไม่ ผมก็ตอบโอเคไป จากนั้นบินเข้า waypoints ไปได้สักสองเส้นก็แครชอีก ผมไม่ได้ตกใจเพราะดูคลิปจากยูทูปเขาก็เตือนแล้วว่าแอพไม่เสถียร ก็เปิดแอพกดปุ่ม “Play” อีกรอบ โดรนจะบินย้อนไปตรงจุดที่มันแครชเพื่อทำการบินและถ่ายรูปให้อีกครั้ง

สัญญาณรบกวน ?

ตอนนี้โดรนบินเข้าสู่เส้นที่สาม แอพเตือนว่ามีสัญญาณรบกวนมาก Strong Signal Interferenceผมก็สงสัยว่าสัญญาณอะไรที่กวนขนาดนั้น แต่ก็ปล่อยให้โดรนบินไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้ทำอะไร

เตือนว่ามีสัญญาณรบกวนมาก

เนื่องจากแครชสี่ถึงห้าครั้งต่อหนึ่งไฟลท์ นับว่าทำให้เปลืองแบตเตอรี่ไปพอสมควร สุดท้ายเหลือประมาณ 4 เส้น ปรากฎว่าโดรนบินกลับมาเองก่อนจะบินจบ พบว่าแบตเตอรีเหลือ 25% ตอนเตือนไม่แน่ใจว่าสัญญานหลุดไหม แต่ก็กลับมาลงพื้นตรงจุด take off ได้อย่างปลอดภัย

ตรวจสอบข้อมูลภาพถ่ายชุดไฟลท์แรก

เมื่อมาดูข้อมูลจากจำนวนเส้นทางบินทั้งหมด 15 เส้น บินได้จริง 11 เส้นและมี 1 เส้นที่ข้อมูลขาดหาย ก็เดาว่าตอนแอพแครชตำแหน่งพิกัดที่บันทึ่ครั้งสุดท้ายน่าจะพลาด ทำให้โดรนไม่ได้ย้อนไปเก็บให้

ข้อมูลขาดหายระหว่างแอพ DroneLink crach

บินไฟลท์ที่สอง

ไฟลท์ที่สองผมเปลี่ยนจากโทรศัพท์มือถือ Oneplus 7T เป็นแท็บเล็ต Samsung Tablet S6 Lite ก็หวังว่าแท็บเล็ตติดตั้งแอพน้อยมาก น่าจะเสถียรกว่า สำหรับการบินไฟลท์ใหม่ในพื้นที่เดียวกันนั้นผมทำเส้นทางการบินใหม่ให้ครอบคลุมเส้นทางบิน 4 เส้นที่ยังไม่เสร็จแล้วย้อนกลับไปเก็บตรงฟันหลอที่บินไฟลท์ก่อนด้วย ครั้งนี้ผมตั้งเวลาถ่ายทุกๆ 1 วินาทีแต่ลองตั้ง Capture Priority จาก “Time” เป็น “Distance” ตั้งให้มันย้อนแย้งกันดูว่าผลลัพธ์จะออกมายังไง เมื่อใช้แท็บเล็ตก็แครชเหมือนกันประมาณสามครั้ง แต่ผมดันจนจบเส้นทางบินทุกเส้น

เปรียบเทียบความสม่ำเสมอของจุดถ่ายภาพจากการตั้งค่า priority

บินไฟลท์แรกตั้งค่าเป็น “Time Priority” แล้วตั้งให้ถ่ายทุกๆ 2 วินาที จะได้จุดสม่ำเสอเป็นระเบียบ พอไฟลท์ที่สองตั้งค่าเป็น “Distance Priority” และตั้งให้ถ่ายทุกๆ 1 วินาที ตามที่ผมคิดมันจะต้องยึดระยะทางแต่ละรูปก่อนแล้วค่อยคำนึ่งถึงเวลา แต่ดูผลลัพธ์แล้วไม่ใช่จุดไม่สม่ำเสมอเลย ถึงแม้การตั้งค่า priority จะต่างกันถ้าดูสี overlap ที่เป็นสีน้ำเงินเข้มแล้วผลต่างไม่ต่างกัน

เปรียบเทียบผลลัพธ์การประมวลผลจาก Agisoft Metashape

เนื่องจากบทความผมตอนนี้เกี่ยวข้องกับบทความที่แล้วเรื่องการหาโดรนระดับคอนซูเมอร์ที่สามารถบินทำแผนที่ได้ ตอนที่แล้วผมนำเสนอ Hubsan Ace Pro ที่ราคาถูกเกือบครึ่งของ DJI Mini 3 Pro ไหนก็จับมาชนกันแล้วก็มาดูผลลัพธ์ของโดรนสองยี่ห้อที่บินบนพื้นที่เดียวกันเป็นอย่างไร

โมเดล 3D

ก่อนจะประมวลผล ผมดูรูปที่ได้จากโดรน Hubsan Ace Pro ที่ได้จากการตั้งมุมกิมบอล -75 องศา พบว่าสีมันไม่สดดูทึมๆ เมื่อนำภาพถ่ายทั้งหมดเข้า Agisoft Metashape ผมใช้เมนู Tools > Set Brightness… ปรับความสว่าง จากนั้นประมวลผลจะได้โมเดลที่ให้รายละเอียดด้านข้างในแนวดิ่งของสิ่งปลูกสร้างต่างๆดี ส่วนของ DJI Mini 3 Pro โดนบังคับให้ใช้มุมกิมบอล -90 องศา (เปลี่ยนได้ต้องจ่ายเงินเพิ่ม) รายละเอียดด้านข้างในแนวดิ่งไม่ดีนัก

โมเดล 3D จากโดรน Hubsan Ace Pro สีสันไม่สดใส รายละเอียดด้านข้างดี
โมเดล 3D จาก DJI Mini 3 Pro สีสันสดใส

Orthomosaic

ต่อไปคือสิ่งที่ชาวสำรวจต้องการมากที่สุดคือแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศหรือบางครั้งเรียกว่า Orthophoto ถ้าเอา Orthophoto มาต่อกันหลายๆรูปก็จะเรียกว่า Orthomosaic เป็นแผนที่ที่ได้รับการปรับสเกลแล้วเป็น 1.0 ตลอดทั้งผืนด้วยกระบวนการ photogrammetry

Orthomosaic จาก Hubsan Ace Pro สีทีมทึบ
Orthomosaic จาก DJI Mini 3 Pro สีสันสดใส

ผมพยายามจะหาวิธีปรับกล้องของ Hubsan ให้ดูดีกว่านี้แต่ไม่มีความรู้ เนื่องจาก Orthomosaic เป็นรูปสามารถใช้โปรแกรมแต่งรูปเช่น Photoshop, Gimp หรืออื่นมาปรับสีได้ ผมปรับ Saturation จากปกติอยู่ที่ 100 มาเป็น 130 ก็จะได้ภาพที่สีสดมากขึ้น แต่สำหรับโมเดลไม่สามารถปรับสีได้ พยายามด้วยเมนู Tools > Calibrate colors… ก็ไม่เป็นผล

Orthomosaic ของ Hubsan Ace Pro ที่ได้จากปรับสี Saturation

สาเหตุจากแอพ Crash

ผมตามไปอ่านในฟอรั่มพบว่าการใช้โดรน DJI Mini 3 Pro จับคู่กับ RC-N1 นั้นแครชมากที่สุด ไม่พบปัญหากับรีโมทคอนโทรลรุ่นเทพเช่น Smart Controller หรือ RC Pro ปัญหาการแครชทาง DroneLink แจ้งว่าสาเหตุมาจากตัว SDK ของ DJI โดยตรง ทำให้ผมกังขาการแก้ไขโดย DJI นั้นน่าจะนานกว่าปกติ เพราะจาก SDK รุ่นที่แล้วคือ MSDKv4 มาถึง MSDKv5 (อัลฟ่า) รุ่นปัจจุบันทาง DJI ใช้เวลาปีกว่าๆ

รอคอย MSDKv5 รุ่นเสถียร

อย่างไรก็ตาม ที่ผมรอมาปีกว่า ถึงแอพใช้งานบินถ่ายภาพจะไม่สมบูรณ์แครชบ่อย แต่เงื่อนไขการใช้แอพรุ่นเบต้านี้ก็ระบุมาก่อน 5 ข้อซึ่งผมก็เข้าใจดีและยอมรับ ทุกๆครั้งที่แอพแครช ถ้าโทรศัพท์ใช้งานอยู่ต่ออินเทอร์เน็ต ข้อมูลนี้จะถูกส่งให้ผู้พัฒนาแอพ DroneLink ทันที ลักษณะที่ผมใช้งานอยู่ในปัจจุบันจะถูกเรียกว่า “Tester” ก็มาติดตามกันว่าแอพรุ่นนี้จะได้รับรุ่นเสถียรเมื่อใด ทั้งนี้ MSDKv5 ยังเป็นรุ่นอัลฟ่า สุดท้ายทาง DJI จะปรับปรุงให้เป็นรุ่นเสถียร ยังไม่มี Timeline ที่แน่ชัดจาก DJI ณ ตอนนี้

สุดท้ายนี้การบินด้วยแอพ Dronelink ในยามที่แอพยังไม่เสถียรนั้นต้องเผื่อแบตเตอรี่ไว้พอสมควร ควรจะมีชุดคอมโบ แบตเตอรีหลายก้อนจะดีมาก ถ้าแอพเสถียรเมื่อไหร่การบินทำแผนที่ด้วยโดรน DJI Mini 3 Pro ด้วยแอพ Dronelink มันจะเป็นเรื่องที่ง่ายดายอย่างยิ่ง

ส่วน Autel Nano ผมเปลี่ยนจากที่ทับกระดาษให้กลับมาใช้ได้อีกครั้งคือส่งไปซ่อมกับ “ต๋องโมกะจาย” ปรากฏว่าบอร์ด IMU เสีย ทางพี่ต๋องเปลี่ยนให้ใหม่สนนราคาค่าซ่อมอยู่ที่สามพันบาทซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ จะได้นำมาบินแบบสันทนาการต่อ เจ้านายคนก่อนของผมย้ำอยู่คำหนึ่งครับว่า “ของเสียต้องซ่อม ของหายต้องหา” ซึ่งผมได้จดจำไว้อย่างดี โปรดติดตามบทความตอนต่อไปครับ

1 thought on “บิน DJI Mini 3 Pro ทำแผนที่ด้วย Dronelink”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *