ทางทีมงานผมได้ซื้อ Emlid RS2 มาสองเครื่อง ราคาเครื่องละ 80000 บาท รวมสองเครื่องก็ 160000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ถูกมาก ราคาที่ถูกจะต้องแลกมากับบางอย่างซึ่งผมจะได้กล่าวต่อไป
เครื่องมือสำหรับงาน Stake out
จุดสลบของอุปกรณ์ RTK นอกจากเรื่องฮาร์ดแวร์แล้วยังมีเรื่องของซอฟแวร์ ได้แก่แอพที่จะใช้งาน construction survey เช่นการ staking ตำแหน่งก่อสร้าง ทาง Emlid พัฒนาแอพบนโทรศัพท์มือถือแทนที่จะทำเครื่องคอนโทรลเลอร์เหมือนเจ้าอื่นๆ สำหรับแอพของ Emlid ตอนแรกชื่อ Reachview สำหรับการ staking ในแอพ Reachview นั้น ความสามารถจำกัดจำเขี่ยมาก ไม่สามารถใช้งานได้จริงจังนี่เป็นข้อเสียที่ทางทีมงาน Emlid รู้ดี
จากแอพฟรีมาสู่ระบบ Subscription
ตอนหลังเปลี่ยนชื่อแอพจาก Rechview เป็น Emlid Flow แทน เนื่องจากมีการเปลี่ยนมาใช้การ subscription โดยการเติมเงินทุกเดือนเพื่อแลกกับฟีเจอร์ประมาณเดือนละ 925 บาท ผมเข้าใจว่าสินค้าของ Emlid ถึงแม้จะถูกแต่ไม่ได้ขายดีแบบเทน้ำเทท่าดังนั้นโมเดลการหาเงินแบบนี้จีงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
ทางทีมผมเองไม่ได้ใช้บริการ subscription นี้ ทำให้เครื่อง RTK ของ Emlid อยู่ในออฟฟิศในลักษณะเป็นเครื่องสำรองไป เลยไม่รู้ว่าฟีเจอร์การ staking จะดีแค่ไหนคุ้มค่ากับเงินที่ต้องเติมไปหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ ถึงแม้จะมี Free trial ก็ยังไม่ได้ลองกัน
เพิ่มแบบจำลองยีออยด์ TGM2017
ปีที่แล้ว พค. 2565 ผมได้ติดต่อทางทีมงานโปรแกรมเมอร์ของ Emlid (ลิ๊งค์) เพื่อให้เพิ่มรูปแบบจำลองยีออยด์ TGM2017 โดยทางทีมงาน Emlid ได้ขอไฟล์รูปแบบ Trimble GGF เพื่อไปแปลงเป็นรูปแบบ Geotiff (*.tif) ที่ทางแอพของ Emlid ต้องการ จนผ่านมาหนึ่งปี ปีนี้ พค. 2566 (จนผมลืมไปแล้ว) ทางทีมงานของ Emlid ก็แจ้งมาว่าแบบจำลองยีออยด์ TGM2017 สามารถใช้งานได้แล้ว
การเปิดใช้งานแบบจำลองยีออยด์ TGM2017
สำหรับการใช้งาน RTK บนเครื่อง Emlid ทางทีมงานผมใช้ซิมการ์ด ที่ซื้อมาแบบล๊อค IP address ตอนแรกๆสามารถใช้ NTRip ได้จากเว็บ RTK2go.com ตอนหลังแอคเคาท์โดนแบนโดยไม่ทราบสาเหตุอันแน่ชัด ก็เลยไม่ได้ใช้กันต่อ สำหรับ Base station นั้นใช้ของ Trimble SPS ส่งค่า Correction ออกทางวิทยุโมเด็ม UHF แล้วยังปล่อยค่าปรับแก้เข้าระบบอินเทอร์เน็ตแบบ Fix IP สำหรับโรเวอร์ RTK นอกจาก Emlid แล้วยังมี Trimble และ CHCNav ใช้กันในไซต์งานแบบรวมมิตร
เริ่มจากในโหมด “Survey” เลือกสร้างโครงการ ผมตั้งชื่อว่า “ทดสอบ TGM2017” จากนั้นเลือกระบบพิกัดทางราบเป็น “WGS84 / UTM zone 47N” และเลือกพื้นหลักฐานทางดิ่งเป็น “Kolak-1975 height/TGM2017.tif/Thailand” หมายเหตุสำหรับคำว่า Kolak-1975 ทางทีมงานของ Emlid ตั้งมาเองครับ จากนั้นแอพจะโหลดยีออยด์มาให้ขนาด 3.6 MB ซึ่งใช้เวลานิดเดียว ผมพยายามค้นในในโทรศัพท์ว่าแอพเก็บไฟล์ TGM2017.tif ไว้ตรงไหน แต่ก็หาไม่เจอ เนื่องจากแอพไม่ได้ให้สิทธิ์ยูเซอร์เปิดเข้าไปอ่านได้
ทดสอบค่าระดับจากโหมดรังวัดของแอพ
ผมทดสอบหมุดระดับที่ได้จากการเดินระดับโดยที่มีค่าจริง 6.275 เมตร ค่าที่ได้จากการรังวัด 6.277 เมตร ค่าต่างกัน 2 มม. ถือว่าอยู่ในเกณฑ์งาน RTK โดยที่ค่าแกว่งไปมาประมาณบวกลบ 1 ซม. ถือว่าปกติ
ตรวจสอบค่าระดับด้วยการคำนวณมือ
ต่อไปจะคิดแบบด้วยมือเพื่อตรวจสอบ ในขณะรังวัดแอพจะแสดงแลตติจูด, ลองจิจูดและความสูงที่เป็น Ellipsoid ดิบๆ ตามรูปที่ผมจับมาคือ -18.917 เมตร ค่าพิกัดจุดนี้คือค่าพิกัดและระดับของ Antenna phase center (APC) ผมทราบว่าจาก APC มาที่จุดที่ต่อโพล (Bottom of antenna mount) ระยะ 0.134 เมตร (ตามรูปที่สองแคปมาจากในแอพ) ความสูงโพล 1.8 เมตร
ผมเอาค่าพิกัดแลตติจูด 12.68051738 และลองจิจูด 101.1206908 ไปป้อนในแอพ Ezy Geo Pro ได้ค่า N (Geoid separation) = -27.1369 เมตร
จะเริ่มจาก APC ก่อนค่าระดับ (h) -18.917 เมตรเป็นค่าความสูงเทียบกับทรงรี WGS84 ทราบค่า N = -27.1369 เมตร (จาก Ezy Geo Pro) จากสูตร h = H + N เราต้องการทราบค่า H (Orthometric height) หรือค่าระดับเทียบกับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.)
H = -18.917 – (-27.1369) = 8.2199 เมตร เป็นค่าระดับที่ APC จากนั้นหักลงมา 0.134 เมตร จะเป็นจุดต่อโพล = 8.2199 – 0.134 = 8.0859 เมตร หักลงมาที่หัวหมุดจากความสูงโพล 1.8 เมตร ระดับหัวหมุด = 8.0859 – 1.8 = 6.286 เมตร ค่าระดับหัวหมุดจริงจากเดินระดับ 6.275 เมตร แสดงว่า error ในขณะรังวัด 11 มม. ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ของงาน RTK
หมายเหตุแอพของ Emlid จะหักค่า 0.134 เมตรและความสูงโพลให้อัตโนมัติ เมื่อใช้โหมดรังวัด RTK ผมเพียงแต่แสดงแนวทางว่าแอพคำนวณค่าระดับจาก Ellipsoid height ทอนมาเป็นระดับรทก. ที่หัวหมุดได้อย่างไร
สำหรับท่านใดที่มีอุปกรณ์ RTK ขวัญใจโลกที่สามอย่าง Emlid ก็สามารถใช้ยีออยด์ TGM2017 ได้โดยตั้งค่าได้ตามที่ผมแนะนำไป โปรดติดตามบทความตอนต่อไปครับ
ขอบคุณครับ
ยินดีครับ
ราคาน่าสนใจมากเลยพี่
ขวัญใจโลกที่สามครับ