ราชาแห่งโดรน
DJI Phantom 4 Pro รุ่นแรกออกมาขายในปี 2559 ผ่านมาเจ็ดปี ยังเป็นดาวค้างฟ้าแห่งการบินถ่ายทำแผนที่ทางอากาศ เพราะอะไร วันนี้จะมาสาธยายกันให้ฟัง
Mechanic Shutter
เดือนพฤศจิกายน 2559 DJI ได้ปล่อยรุ่น Phamtom 4 Pro มานับว่าเป็นการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีที่ควบรวมระหว่างกล้องกับโดรนได้อย่างลงตัวที่สุด ด้วยการมีเซ็นเซอร์รับภาพขนาด 1 นิ้ว ถ่ายภาพนิ่งขนาด 20Mp และมีชัตเตอร์แบบ Mechanic shutter ที่ถือกันว่าดีที่สุด ทำให้โดรนที่บินถ่ายภาพด้วยความเร็วสูงชัดไม่เบลอ ส่วนรุ่นอื่นของ DJI ที่มีชัตเตอร์แบบนี้จะเป็นรุ่นเทพเช่น Mavic Enterprise ส่วนยี่ห้ออื่นชัตเตอร์เป็นแบบ Roller shutter ทั้งหมด
ตลาดมือสอง
สำหรับตลาดมือสองของโดรนรุ่นนี้ สภาพดีๆสวยๆจะขายกันที่ราคาสองหมื่นต้นๆเป็นต้นไป ผมคิดว่าคนใช้ที่บินถ่ายรูป ถ่ายวีโดโอแบบสันทนาการคงเหลือคนใช้รุ่นนี้น้อยลง เพราะว่าน่าจะหันไปซื้อโดรนแบบปีกพับขนาดกระทัดรัด สะดวกกับการพกพามากกว่า ดังนั้นตลาดมือสองที่ขายกันอยู่ น่าจะวนเวียนสำหรับกลุ่มบินถ่ายภาพทางอากาศทำแผนที่กันมากกว่า อาจจะมีคนเก็บโดรนรุ่นนี้ไว้ไม่ขายแต่ก็น่าจะมีไม่มากนัก
ส่วน Phantom 4 Advanced (P4A) เป็นรุ่นราคาประหยัดออกขายในเดือนเมษยน 2560 ผมไปถอยเป็นมือสองมาในสนนราคา 12000 บาทจากเจ้าของเดิมที่ใช้โดรนบินถ่ายภาพทางอากาศ ในสภาพปานกลาง สำหรับ DJI Phantom 4 Advanced ต่างจากรุ่นโปรตรงที่ตัดเซ็นเซอร์กันชนซ้ายขวาและหลังออก ส่วนกล้องและกิมบอลเหมือนกันทุกประการ สำหรับงานบินถ่ายภาพทางอากาศเพื่อทำแผนที่แล้ว ต้องบินให้สูงกว่าสิ่งปลูกสร้าง ดังนั้นเซ็นเซอร์กันชนด้านข้าง ด้านหลัง คงไม่จำเป็นนัก
รุ่นประหยัด Advanced
สภาพที่ซื้อมาเจ้าของเดิมได้ชี้ให้ดูตำหนิ เช่นรอยร้าวที่เกิดจากความเค้น (stress crack) ไม่ได้เกิดจากการตกหรือชนแต่อย่างใด แบตเตอรี่สองก้อน มีรอยร้าวนิดหน่อย ก้อนหนึ่งสภาพปกติ ก้อนหนึ่งบวมนิดๆแต่ยังใช้ได้ดีอยู่
ทดสอบโดรนมือสอง
เมื่อซื้อมาแล้ว การทดสอบบินโดรน ลำดับแรกสุดที่ต้องตรวจสอบจากแอพ DJI Go 4 คือดูว่า Compass และ IMU อยู่ในสภาพ Normal หรือไม่ ผลก็คือผ่าน แอพไม่ได้แจ้งเตือนแต่อย่างใด จากนั้นทำการ calibrate ตัวกิมบอลซึ่งใช้เวลาไม่นานผ่านด้วยดีเช่นกัน
ลำดับต่อไปคือทดสอบคือแบตเตอรีแต่ละก่อนว่าบินได้นานกี่นาที วิธีการทดสอบคือให้บินต่ำไว้ และด้านล่างควรรองด้วยฟองน้ำหนาๆ กันแบตหมดกระทันหันตกลงมา โดรนจะได้ไม่เสียหาย ผมทดสอบโดยการบินไปเหนือหลังคาจอดรถสูงประมาณหนึ่งถึงสองเมตรและรองด้วยแผ่นกันกระแทก ผลการทดสอบแบตเตอรี่สามารถบินได้จนจบที่ 95% จากนั้นผมไม่รอให้แบตหมดเอาโดรนลงพื้น แบตสองก้อนผ่านการทดสอบ
บินทดสอบถ่ายภาพทางอากาศ
จากนั้นบินทดสอบด้วยแอพ Litchi ที่ผมซื้อไว้นานแล้วตั้งแต่ราคา 240 บาท ปัจจุบันแอพนี้ขายที่ราคา 950 บาท ถ้าเราซื้อแอพนี้สามารถไปใช้ฮับ flylitchi.com สำหรับสร้างและเก็บเส้นทางการบิน (Waypoints) แต่บอกไว้ก่อนทาง Litchi ไม่ได้ให้เครื่องมือสำหรับการสร้างเส้นทางบินไว้เช่นการสร้างเส้นโพลีกอนรอบพื้นที่ที่จะบินแล้วสร้างเส้นทางบินให้ แต่สามารถอิมพอร์ตไฟล์จากไฟล์ csv ได้
สร้างเส้นทางการบินด้วย Mission Planner
ผมใช้โปรแกรม Mission Planner ของฟรีสร้างเส้นทางบินจากนั้นเซฟเป็นไฟล์ text นำไปตัดแต่งใน excel จากนั้นนำเข้าไปในฮับ flylitchi.com อีกทีครับ ไม่สะดวกอยู่บ้างแต่ก็ไม่หนักหนาอะไร
ทดสอบการบินด้วยแอพ Litchi อยู่หลายเที่ยวและนำภาพถ่ายทางอากาศมาประมวลผลก็เป็นที่น่าพอใจ บินที่ความสูง 120 เมตร ได้ GSD 3 ซม. สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างได้สบายๆ
ซ่อมแซมด้วยการใช้กาวซูเปอร์กลู
ผมมีแผนที่จะเปลี่ยนกระดอง (shell) ทั้งตัวบนและล่าง แต่เมื่อไปสืบราคาแล้วต้องสะดุ้ง เพราะราคากระดองบนและล่างรวมทั้งสกี ราคาอยู่ประมาณหกพันถึงเจ็ดพันบาท ในตลาดไม่มีของเทียบเทียม ทำให้คนเบี้ยน้อยหอยน้อยต้องคิดหลายตลบ จากนั้นแผนสองก็ตามมาคือซ่อมได้ไหม รอยร้าวเหล่านี้
ผมไปส่องดูคลิปในยูทูปหลายคลิปมีคนซ่อมโดรนด้วยการเชื่อมด้วยกาว superglue ประมาณกาวตราช้างในบ้านเรา ส่วนยี่ห้อฝรั่งจะเป็นกาวยี่ห้อกอริลล่าประมาณนั้น จากนั้นไปดูคลิปการรื้อโดรนเปลี่ยนกระดองหลายๆคลิป จนจำขึ้นใจ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการรื้อและประกอบ
จากนั้นผมก็จัดการรื้อกระดองมา สิ่งที่ต้องมีคือไขควงแบบหกเหลี่ยมขนาด 0.9 มม. และ 2 มม. และไขควงแฉกด้วย เตรียมกาวให้พร้อม และที่ขาดไม่ได้คือตัวงัดหัวแบนๆและตัวคีบ
รื้ออัดกาวและประกอบ
สำหรับการรื้อของผมไม่ได้ถ่ายวีดีโอไว้ แต่ถ่ายรูปเป็นระยะ เพื่อดูขั่วต่อสายในกรณีประกอบกันลืมในภายหลัง ผลการรื้อที่ต้องแงะใช้แรง ทำให้รอยร้าวเพิ่มขึ้น จากกระดองล่างใต้มอเตอร์จากเดิมร้าวครึ่ง กลายเป็นร้าวขาดเสมอ จากนั้นผมทากาว เมื่อกาวแห้งแล้ว ผมประกอบโดรนดังเดิม ดูรอยต่อกาวแล้วอยู่ในสภาพดีพอสมควร
ทดสอบหลังจากอัดกาว
จากนั้นนำโดรนกลับไปบินถ่ายภาพทางอากาศอีกครั้ง ในใจก็ระทึกพอสมควรว่ากาวที่ต่อไว้จะเอาอยู่ไหม ผลการทดสอบการบินสิบกว่าครั้งผ่าน ไม่มีรอยร้าวเพิ่ม นับว่ากาว superglue ให้ประสิทธิภาพที่ดีสมดังโฆษณา บางเที่ยวบินลมแรงพอสมควร แอพ Litchi เตือนว่าลมแรงให้บินด้วยความระมัดระวัง
ข้อควรระวังคือรอยร้าวกระดองบนและล่างต้องไม่ตรงกัน แบบนี้เสี่ยงมาก กาวไม่น่าจะเอาอยู่ ถ้ารอยร้าวไม่ตรงกัน พอที่กระดองอีกด้านจะช่วยกันพยุงได้ โดรนรุ่นนี้มีสี่มอเตอร์ ดังนั้นน้ำหนักที่แขนมอเตอร์แต่ละตัวต้องพยุงคือน้ำหนักรวมทั้งหมดหารด้วยสี่
การบำรุงรักษาขั้นต่อไป ผมลองไปหน้าล้างเลนส์กล้องของ P4A เผื่อจะมีอะไรติดด้านหน้าเลนส์ทำให้คุณภาพการถ่ายรูปด้อยไปหรือไม่ จากนั้นไปศึกษาการตั้งพารามิเตอร์กล้อง ผลก็คือมีคนศึกษาไว้พอสมควร
ตั้งค่ากล้อง
เนื่องจากงานบินโดรนถ่ายทางอากาศโดยทั่วๆไปในเวลากลางวัน ความเร็วจำกัดกันอยู่ไม่น่าจะเกิน 30 กม./ชม. ทางกูรูบางท่านแนะนำให้ตั้งค่าพารามิเตอร์ดังนี้ รูรับแสง (Aperture) ตั้งไว้ที่ F/6.3 ตั้งโฟกัสแบบ manual focus ไว้ที่ infinity ตั้ง ISO ไว้ที่ 100 เสมอ ส่วนความเร็วชัตเตอร์ไม่ต้องล๊อคให้กล้องของโดรนเลือกให้ ผมตั้งค่าให้กล้องให้ใหม่ และนำโดรนไปบินทดสอบด้วยการอาศัยอาศัยแนวเส้นทางบินที่เคยบินไว้ก่อนแล้ว เปรียบเทียบแล้วดูด้วยตาแล้ว ดูเหมือนว่าภาพจะดี คมชัดกว่าเดิม
ก้าวต่อไปอัพเกรดไปสู่ PPK (Post Processing Kinematic)
โดรนรุ่นนี้ตั้งใจว่าจะอัพเกรดไปสู่ PPK ต้องเก็บเงินอีกสักพักหนึ่ง สำหรับ PPK คือการเพิ่มอุปกรณ์ GNSS แบบชุดคิท โดยจะต้องมีสถานีฐานที่เก็บข้อมูล Rinex ในขณะบินโดรน ส่วนอุปกรณ์ PPK ที่ติดตั้งบนโดรนนี้จะเก็บข้อมูล Rinex เช่นเดียวกัน จากนั้นจะนำข้อมูลทั้งสองมาทำการคำนวณเพื่อให้ได้ความถูกต้องตำแหน่งและความสูงให้อยู้ระดับหลักซม. ดีจนถึงที่บวกลบ 2-3 ซม. เท่าที่มองตอนนี้มองไปที่ เมตตาเทค (Mettatec) จากเปรู อีกค่ายที่มองคือจากจีน รายละเอียดมาว่ากันอีกทีครับ โปรดติดตามกันตอนต่อไปครับ
ตามครับ ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับ จาก FC คนนึง
ขอบคุณครับจรัญ
แจ่มมากเลยครับ
ขอบคุณครับ
มี P4P ลงขาย 18K เห็นแล้วอยากรับเข้ามาเก็บเลยครับ
ถ้าสภาพสวยน่าเก็บครับ
เป็นประโยชน์มากๆครับ ติดตามเรื่องนี้ครับ
ขอบคุณที่ติดตามครับ