- น้ำท่วมปีนี้ของบ้านเราหนักหนาสาหัสจริงๆ สมณะชีพราห์ม อาณาประชาราษฎร์ เดือดร้อนไปทุกข์หย่อมหญ้า ไม่เลือกยากดีมีจน ความจริงเรารู้ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา ไม่ว่าจะมีพายุจะกี่ลูกก็ตาม เรื่องสำคัญคือเรื่องบริหารจัดการน้ำต่างหาก ที่จะผ่อนหนักให้เป็นเบา เขื่อนจะต้องพร่องน้ำเมื่อไหร่เท่าไหร่ตามปริมาณน้ำฝน
- สำหรับบ้านเรา ด้าน GIS เรามีแบบจำลองความสูงคือ DEM ที่น่าจะละเอียดพอ มีดาวเทียมธีออสที่สามารถเห็นภาพจากท้องฟ้าได้แบบ real time หรือดาวเทียมดวงอื่นๆเป็นสิบดวง ที่นี้เมื่อแม่น้ำลำคลองไม่สามารถรับปริมาณน้ำได้จะต้องเอ่อล้นท่วมสองข้างฝั่ง ทิศทางมวลน้ำจะไหลไปทางไหน สามารถ simulate ได้ด้วยโปรแกรมด้าน GIS สำหรับกรุงเทพฯและปริมณฑลมีเวลา 2-3 เดือนเตรียมตัวน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้
- สภาพความเป็นจริงแถบปริมณฑล พื้นที่อดีตส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร สามารถรับน้ำในยามน้ำหลาก แต่การพัฒนาในปัจจุบัน พื้นที่เหล่านี้ถูกถมเป็นที่อยู่อาศัย เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทำให้ทิศทางของมวลน้ำจากที่เคยเอ่อล้นไปสะดวก ก็รวมตัวโจมตี จนกระทั่งนิคมอุตสาหกรรมแล้วนิคมเล่าจมน้ำ ความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล คนตกงานอีกเป็นล้านคน
- ผมมีเพื่อนอาศัยอยู่ที่อยุธยาแถวๆบางปะหัน เคยไปเที่ยวบ้านเพื่อนหลายสิบปีมาแล้ว บ้านเป็นบ้านไม้สองชั้น ชั้นล่างเปิดโล่ง ยังมีเรือไม้อยู่ หน้าแล้งจะเอามาชันยา หน้าฝนน้ำหลากก็ท่วมใต้ถุนบ้าน ใช้เรือนี่แหละในการสัญจร ก็คือเป็นวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศดี ปัจจุบันอย่างที่เกาะเกร็ด นนทบุรีก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ คนที่นั่นก็เลยไม่รู้สึกเดือดร้อนมากนัก
Amphibious Vehicle
- แปลได้ตรงตัวว่า ยานยนต์ที่สามารถใช้ได้ทั้งในน้ำและบนบก ผมอ่าน Professional Surveyor Magazine ฉบับที่ 1 เดือน 8 ปี 2008 เห็นเป็นเรื่องยานยนต์ตัวนี้ ระบุใช้ในงานสำรวจที่เป็นพื้นที่ swamp คือน้ำไม่ลึกมากเช่นบึง หรือแม้กระทั่งป่าชายเลย พื้นที่แบบนี้ อาจจะมีพืชน้ำหรือกองไม้ระเกะระกะ ยากที่จะเดินไปสำรวจด้วยเท้า เมื่อมาเห็นน้ำท่วมบ้านเราแบบนี้ก็นึกถึงรถ/เรือแบบนี้ขึ้นมาทันที เลยกลับไปดูนิตยสารอีกครั้ง มีหลายเว็บไซท์ของอเมริกาที่ขายของแบบนี้ ที่ผมพูดถึงอยู่คือ HydraTrek หรืออีกเจ้าก็เป็น ArgoATV
- ตัวรถ/เรือ ที่เห็นนี้ผลิตในอเมริกา มีบทบาทใช้งานมากช่วงน้ำท่วมสหรัฐฯเมื่อโดนพายุแคทรินา ตัวถังทำด้วยอลูมิเนียมทั้งคัน ทำให้เบา ทนทานพอสมควร เครื่องยนต์ไม่ได้วิลิศมาหราอะไรเลยเป็นเครื่องคูโบต้านำเข้าจากญี่ปุ่นเป็นเครื่องดีเซลเทอร์โบชาร์ตขนาด 40 แรงม้า น้ำท่วมบ้านเราถ้าระดับน้ำประมาณหนึ่งเมตรรถใหญ่ก็พอไปได้ แตถ้าระดับน้ำมากกว่าหนึ่งเมตรก็ต้องอาศัยเรือแล้วครับ
- ถ้ามียานยนต์แบบนี้คือถ้าบนบกก็ใช้การขับเคลื่อนแบบหกล้อไปเรื่อยๆไม่เร็วแต่ไปได้ดี แต่พอลงน้ำก็ตัดกำลังจากเพลาขับล้อมาเป็นเพลาขับใบจักรแทน บนบกหรือน้ำตื้นก็ใช้ล้อ คือสรุปแล้วไปได้หมดทุกพื้นที่ มีไฟสปอค์ตไลท์ มีวินช์สำหรับดึงในกรณีติดหล่ม หรือขึ้นที่ลาดชันมากๆ
ผลิตในบ้านเราได้ไหม?
- ผมดูแล้ว ถ้ามีคนคิดและทำในบ้านเรา ทำได้ครับไม่มีอะไรจะไฮเทคเลิศเลอเลย แต่ปัญหาคือผลิตแล้วจะขายใครเท่านั้นละครับ บ้านเรามันเสียอยู่อย่างคืองานวิจัยและพัฒนามันน้อย ที่เห็นอุตสาหกรรมต่างๆส่วนใหญ่ในบ้านเราเป็นสถานีรับจ้างผลิตทั้งนั้น ตัว Amphibian นี้ถ้าจะทำมันยากอย่างเดียวคือระบบขับเคลื่อนด้วยใบจักรเมื่ออยู่ในน้ำ เพราะผมสังเกตดูแล้วไม่มีหางเสือสำหรับบังคับเลี้ยว ทีนี้งานก็ตกอยู่ที่ใบจักรสองใบในการหมุนด้วยรอบที่ไม่เท่ากันเพื่อให้เรือสามารถเลี้ยวได้ จากที่อ่านดูแล้วยานยนต์นี้ไม่มีโซ่ ไม่มีเกียร์บ็อกซ์หรือคลัทซ์ ทำงานด้วยระบบไฮโดรลิคล้วนๆ สนนราคาในอเมริกาประมาณ 1.5 ล้านบาท ถ้าสั่งมาบ้านเราเจอภาษีเข้าไปคูณสามเข้าไป คงมีแต่เศรษฐีที่ซื้อได้
- ไหนๆพูดถึงเรื่องนี้แล้วขอเชียร์คนใกล้ๆหน่อย ผลงานที่เห็นดังรูปต่อไปเป็นของพี่พงษ์ชัย พงษ์ชวลิต เป็นแบ็คโฮสภาพสะเทินน้ำสะเทินบก ช่วงล่างรื้อแทร็คเดิมออกหมด แล้วออกแบบช่วงล่างใหม่ ตามรูปที่เห็นเป็นรุ่น 1 ตอนนี้ผ่านมาแล้ว 4-5 ปีน่าจะเป็นรุ่น 3 แล้ว คือทำงานได้ในน้ำตื้นได้ประมาณสัก 1-1.5 เมตร เจอน้ำลึกกว่านี้ก็ลอยตัวได้ เรื่องทำงานคงไม่ได้บึ๊กๆแบบอยู่บนแทร็คดั้งเดิมบนบกคืออาจจะเทอะทะไปบ้างตามข้อจำกัด แต่ก็ทำงานได้ดีกว่าใช้แรงคน ข้อจำกัดอีกอย่างคือการซ่อมบำรุงต้องมากขึ้น แต่มองแล้วคุ้มค่า
- พี่พงษ์ชัยใช้หลักด้านวิศวกรรมเครื่องกล ผ่านการคิด ผ่านโปรแกรม 3D ที่วิเคราะห์เรื่องวัสดุที่ใช้ประกอบ ผ่านเรื่องแรงลอยตัวของน้ำ การพยุงตัวให้ได้สมดุล เอ้าพี่พงษ์ชัยสู้ต่อไปครับ มีเวลาว่างๆจะให้ออกแบบ ยานยนต์ amphibian ที่กล่าวมาข้างต้นนะครับ
ผมอ่านแล้วนึกถึงสองประเด็นนะพี่
1. ถ้าเอาไปให้ผู้ประกาศข่าวช่องอะไรก็ตามผมมั่นใจว่า นักข่าวเกิน 50 % ต้องอ่านว่า “รถสะเทิ้นน้ำ สะเทิ้นบก” สะเทิ้น แปลว่า อาย แสดงว่าไอ่ยานพาหนะที่ว่านี้น่าจะเป็นจำพวกเครื่องบิน เพราะมันอายทั้งน้ำและอายทั้งบก
2. อ. ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการตลาด เคยบอกว่า “คนไทยก็อปปี้เก่ง เริ่มนวัตกรรมไม่เก่ง” ถ้าอยากให้แพร่หลายต้องนำเข้ามา ถึงจะเวิร์ค ถ้าผลิตเอง แล้วบอกคนไทยทำ น่าจะไปไม่รอด แต่ถ้ามาจากเมืองนอกจะเป็นของวิเศษขึ้นมาทันที
อืม….จะเริ่มตรงไหนดี ระบบการศึกษาที่สอนให้คนท่องจำหรือปล่าว หรือไม่มีทุนในการสนับสนุนการวิจัย การลอกแบบก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายไปทั้งหมดดูอย่างไต้หวันเรื่องไอทีปะไร แต่ก่อนก็ลอกแหลก เดี๋ยวนี้ไปไกล ที่จะตามมาคือจีนแดง ลอกเก่ง แต่มีไอเดียเจ๋ง เช่นเรื่องเครื่องใช้ไฟฟ้าปะไร ถูก ไม่ทนแต่ไอเดียดีมากๆ เมื่อไหร่เขาตั้งตัวได้ก็ทิ้งเราไปอีกไกล
ไม่ทราบว่าคุณประจวบพอจะมีชื่อโปรแกรมทาง GIS ที่แสดง animation การใหลของน้ำเพื่อที่จะเอามาดูหรือวิเคราะห์ในสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันนี้ไหมครับ
ผมเห็นใน SAGA GIS อยู่ในโมดูล Hydrology แต่ฟังก์ชั่นการใช้งานยากไปสำหรับผมก็เลยไม่ได้แกะเข้าไปลึกครับ
อ่า ok ครับเดี๋ยวไปลองเล่นๆดู ว่าแต่อย่างคุณปรจวบยังบอกยากคนอื่นจะไหวเหรอเนี่ย T-T เห็นวันก่อนรัฐบาลเชิญ ผชช. น้ำท่วมต่างประเทศมาเห็นเปิดโปรแกรมทำ animate แสดง flood area จากตอนเหนือลงภาคกลางเลยกำลังลองหาอยู่ เสียดายทีวีไม่ยอมถ่ายติดชื่อโปรแกรมเลย หายากเลย ต้องคลำยาว
ขอบคุณครับ
รู้สึกว่าจะสัญชาติฮอลแลนด์ ผมก็ดูผ่านๆครับ คนฮอลแลนด์จะเก่งเรื่องงาน offshore ทางทะเลเพราะมีการคิด วิจัยและทำมาก่อน แต่อย่างไรก็ตามผมว่าการแก้ไขปัญหาใช้คนไทยดีกว่า เพราะว่าใครจะรู้ลึกซึ้งเท่ากับคนบ้านเราไม่มีแล้ว ฝรั่งเองเจอพวกกำมะลอก็เยอะ ไม่ได้เก่งกว่าคนเอเซียเท่าไหร่หรอกครับ