The Return of Spot Fire ก้าวกลับมาอีกครั้งของ Spot Fire รุ่น 2.10 (ล่าสุด)

Spot Fire V2.10 รุ่นล่าสุด

  • และแล้วก็ได้เวลา upgrade โปรแกรมอีกตัว ซึ่งโปรแกรมเขียนตัวเลขค่าระดับส่งเข้า Autocad โดยตรง เป็นโปรแกรมเล็กมากๆ เรียกว่าเป็นทูลส์ (tools) ก็ได้ครับ ขนาดไฟล์ติดตั้ง 1.5 MB แค่นั้นเอง
  • เดิมทีโปรแกรมพัฒนาด้วย Delphi ซึ่งติดเรื่องลิขสิทธิ์ ผมพอร์ทโปรแกรมมา Lazarus ซึ่งใช้ Free pascal compiler เป็นคอมไพเลอร์ ที่ฟรีและ opensource เนื่องจากโค๊ดของ Dephi เป็นปาสคาลอยู่แล้วการพอร์ทโค๊ดมา Lazarus ซึ่งเป็นภาษาปาสคาลเหมือนกัน จึงเป็นเรื่องง่ายๆ และได้อัพเกรดความสามารถหลายๆอย่างเพิ่มเติมครับ
  • รองรับจอ 4K เหมือนทุกโปรแกรมที่อัพเดทก่อนหน้านี้

SpotFire_Intro

จุดกำเนิดโปรแกรม

  • งานสำรวจทางทะเลหรือแม่น้ำ สำรวจความลึกท้องทะเล (sea bed) หรือท้องแม่น้ำ (river bed) เรียกให้แคบในภาษาปัจจุบันคือ  Bathymetric Survey จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือการเขียนเลขน้ำ (เขียนค่าระดับหรือความลึกตรงบริเวณจุดสำรวจ)

bathy_example

  • งานทางน้ำทางทะเล เลขน้ำลึกตัวเลขจะบวก ที่ตื้นค่าระดับจะเป็นลบ เลขน้ำทางสากล จะไม่เขียนจุดทศนิยม ถ้าเลขทศนิยมเป็นศูนย์ เช่น 1.0, 2.0 จะไม่เขียนเลขทศนิยมคือเลขศูนย์ ตัวเลขทศนิยมจะเป็นตัวห้อย ตัวหนังสือจะเล็กว่าเลขหลักประมาณ 70-80% (ดูรูปด้านบน ผมดาวน์โหลดจากอินเทอร์เน็ต) ถ้าเป็นเลขลบจะขีดเส้นใต้ตัวเลขตัวหลัก ส่วนทศนิยมจะไม่มีขีดด้านล่าง
  • ตัวหนังสือนิยมเขียนตัวเอียงแบบ oblique อีกเอียงโย้ไปด้านหลังประมาณ 15 องศา ลองดูแผนที่เดินเรือแบบสากล สังเกตที่ตื้นๆสีเขียวเข้มๆด้านขวาค่าระดับจะเป็นลบ จะมีขีดใต้ตัวเลขหลัก

portion-of-raster-chart

  • เนื่องจากผมทำงานทางทะเลมาตั้งแต่จุดเริ่มต้น จึงเขียนโปรแกรมนี้มาใช้งาน รุ่นแรกๆก็ยังไม่ดีนักแต่ก็พอใช้งานได้ จนถึงตอนนี้ได้ยกเครื่องอัพเกรดโปรแกรมใหม่ ให้เขียนเลขน้ำได้หลากหลายมากขึ้น มาดูกันว่ารุ่นนี้ทำอะไรได้บ้าง

ดาวน์โหลดและติดตั้ง

  • ดาวน์โหลดได้ที่ SpotFire V2.10 แบบ 64 bit และ SpotFire V2.10 แบบ 32 bit ตอนนี้เป็น build 2370 หรือถ้าลิ๊งค์ตรงนี้ขาดให้ดูด้านขวามือของ blog ในส่วน Download เมื่อดาวน์โหลดมาแล้วก็ unzip แล้วทำการติดตั้งง่ายๆ ติดตั้งแล้วจะเห็นไอคอนของโปรแกรมอยู่บน desktop ดับเบิ้ลคลิกเพื่อเปิดโปรแกรม

spotfire_icon_desktop

เปิดโปรแกรม

  • เปิดมาหน้าแรกจะเป็นหน้าต่างของแท็บ “Options” ที่เป็นหน้าให้ป้อนค่าตัวเลือกเพื่อควบคุมตัวเลขค่าระดับ ตั้งแต่กำหนดมาตราส่วนของแผนที่ ฟอนต์ ขนาดตัวเลข และอื่นๆ
  • ส่วนทูลบาร์ มีแค่สองไอคอนคือเปิดไฟล์ กับส่งตัวเลขค่าระดับเข้า Autocad

spotfire_introduction

  • อีกหน้าจะเป็นหน้าต่างของแท็บ “Points” ไว้แสดงข้อมูล X,Y,Z หรือ N,E,Z ที่อ่านได้จากไฟล์ CSV ตอนนี้ยังโล่งเพราะยังไม่มีข้อมูล

SpotFire_points

ทดสอบข้อมูล

  • ข้อมูลตัวอย่างเก็บไว้ที่ “C:\Users\ชื่อผู้ใช้\Appdata\Roaming\Spot Fire\Examples Data” ซึ่งจะเป็นโฟลเดอร์ที่ซ่อนไว้ จะใช้ตัวช่วย คลิกที่เมนู “Help > Examples Data Folder…” ดังรูป

spotfire_open_examples_folder

  • โปรแกรมจะบอกว่าได้ก๊อปปี้พาท (path) ของโฟลเดอร์ตัวอย่างข้อมูลไปไว้ในคลิปบอร์ดเรียบร้อยแล้ว คลิก “OK” เพื่อปิด

spotfire_copytoclipboard

  • โปรแกรมจะเปิด Windows Explorer แสดงพาทที่เก็บข้อมูล จะเห็นไฟล์ชื่อ “Cavite-NEZ.csv” เราจะทดสอบไฟล์นี้ก่อน ไฟล์ข้อมูลจะเป็น text file ที่เก็บจุดงานสำรวจ (point) ไว้ในรูปแบบ NEZ โดยที่ใช้ตัวคั่นคือเครื่องหมายคอมม่า

spotfire_tested_file

เปิดไฟล์ข้อมูล

  • กลับมาที่โปรแกรมกันต่อ ที่ทูลบาร์คลิกไอคอน “Open CSV text file…

spotfire_open_file_icon

  • จะเห็นไฟล์ไดอะล็อก เนื่องจากพาทข้อมูลที่วินโดส์ซ่อนไว้ ถ้า browse จะมองไม่เห็น วิธีการคือเอาพาทที่เราก็อปปี้ไปไว้ในคลิปบอร์ดมาวาง (pasted) บนพาทของไดอะล็อก กด “Enter” ที่คีย์บอร์ดครั้งหนึ่ง เลือกไฟล์ เลือกรูปแบบไฟล์เป็น N,E,Z แล้วเปิดไฟล์ ดูรูปประกอบ

spotfire_selected_file

  • ตอนเลือกรูปแบบไฟล์ต้องเลือกให้ตรง เพราะบางท่านนิยมเก็บไว้ในรูปแบบ E,N,Z ค่า N และ E บางครั้งมีค่าใกล้เคียงกัน ผมไม่สามารถโปรแกรมให้อ่านไฟล์ แล้วตัดสินใจเลือกว่าคอลัมน์ไหนเป็น N หรือ E ซึ่งอาจจะผิดพลาด ผู้ใช้ต้องเลือกเองครับ
  • Format ของ CSV มี 4 รูปแบบที่โปรแกรมอ่านได้คือ
    • P,N,E,Z,D (P = Point No. D=Description) และ P,N,E,Z
    • P,E,N,Z,D และ P,E,N,Z
    • N,E,Z,D และ N,E,Z
    • E,N,Z,D และ E,N,Z

ตรวจสอบข้อมูล

  • ไฟล์ข้อมูล “Cavite-NEZ.csv” ที่เปิด จะมีจำนวนจุดประมาณ 19789 จุด โปรแกรมใช้เวลาอ่านนิดเดียว คลิกที่แท็บ “Points” มาดูข้อมูลบนตารางข้อมูล ตารางนี้ดูได้อย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขได้

spotfire_data_table

  • เปิดเมนู “File > Properties” จะเห็นค่าระดับลึกสุด = 43.160 เมตร ค่าตื้นสุด = -1.060 เมตร ไฟล์งานนี้เป็นไฟล์สำรวจ seabed ของทะเล

spotfire_file_properties

ตั้งค่าตัวเลือกเพื่อตั้งรูปแบบตัวเลขค่าระดับ

  • คลิกแท็บกลับมาที่ “Options” รูปด้านล่างดูแล้วอาจจะลายตา ทนเอาหน่อยครับ หน้านี้เป็นการกำหนดรูปแบบให้ตัวเลข อย่างเช่นอันดับแรกมาตราส่วน ผมเลือกมาตราส่วน 1 : 20000 เพราะงานสำรวจเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ในทะเลติดชายฝั่งแห่งหนึ่ง

spotfire_set_options

  • มาตราส่วนแผนที่จะเป็นสิ่งแรกที่เราคิดไว้ก่อนสิ่งอื่น 1 : 20000 เทียบแบบนี้จะเข้าใจง่าย 1 มม. บนแผนที่ = ขนาดจริงบนโลก 20000 มม. หรือ 1 มม.บนแผนที่ = 20 เมตร (หาร 20000 ด้วย 1000) ฉะนั้นเวลากำหนดตัวอักษรสูงขนาด 2 มม. เวลาเขียนแบบตัวอักษรใน CAD จะต้องตั้งความสูงเท่ากับ 2 x 20 = 40 เมตร (ถ้าเรากำหนดหน่วยเขียนแบบใน CAD เป็นหน่วยเมตร) แต่ไม่ต้องปวดหัวครับ ถ้าตั้งมาตราส่วนเท่าไหร่โปรแกรมจะคำนวณมาให้ถูกต้องได้ถูกต้องเท่านั้น
  • Text layer สามารถเลือกเป็น “Single layer” โปรแกรมจะใช้ชื่อเลเยอร์ “SpotText” โดยอัตโนมัติ แต่ถ้าเลือก “Multiple layers” โปรแกรมจะสร้างให้ตามชั้นหรือช่วงของค่าระดับ (Color band)
  • เลือกฟอนต์ไว้เป็น “Romans” เพราะตัวเลขจะออกมาสวย เลือกความสูงตัวเลขหลัก 2 มม. ตัวทศนิยมจะเป็นตัวห้อยขนาดเล็กกว่า ขนาด 1.5 มม. ไม่หมุนตัวเลข จัดให้ตัวเลขเอียงไปด้านหลัง (Oblique) 15 องศา
  • รูปแบบเครื่องหมายลบ เลือก “Underlineขีดเส้นใต้ล่างตัวเลขหลัก กำหนดจำนวนทศนิยม 1 ตำแหน่ง ไม่แสดงเครื่องหมายจุดทศนิยม
  • จะเขียน point ลงให้ไปด้วย ตั้งชื่อเลเยอร์ “Points
  • เลือกจำนวนจุด (Select point every) ในเบื้องต้นตั้งเป็น 1 สามารถตั้งค่าอื่นได้เช่น ตั้งเป็น 4 ถ้าจุดเรียงกันไป 1,2,3,4,5,6,7,8…. โปรแกรมจะเลือกจุดที่ 1 จุดต่อไปจะเลือกจุดที่ 5 (ทุกๆ 4)
  • ในตอนนี้โปรแกรมจะตั้งค่าปริยาย Automatic color band interval = 5 เมตร ถ้าเปลี่ยนค่าโปรแกรมจะคำนวณให้ใหม่โดยคลิกที่ปุ่มยาวๆ “Apply” ด้านล่าง
  • จะเห็นว่าแบ่งค่าระดับจากมากไปน้อยได้ 10 ระดับ โปรแกรมจะเลือกสีมาให้เช่นกัน 10 สี และตั้งค่าเลเยอร์ตามค่าระดับอีก 10 เลเยอร์

ปั๊มตัวเลขค่าระดับเข้า Autocad

  • ก่อนจะปั๊มตัวเลขเข้า ขอให้เปิดโปรแกรม Autocad  ไว้ก่อน เพราะไม่งั้น Autocad ใช้เวลาเปิดนาน โปรแกรม Spot Fire อาจจะรวน
  • ที่ทูลบาร์คลิกที่ไอคอน Autocad

spotfire_fire_to_acad_icon

  • เมื่อสถานะการส่งจุดครบ 100% ไปที่โปรแกรม Autocad จะเห็นจุดดังรูป

autocad_all_points_cavite

  • ลอง Zoom เข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นว่าจุดแน่น ตัวเลขค่าระดับติดกันเป็นพรืด

dense_points

  • ที่ Options ตรงเลือกจุด (Select point every) เพิ่มจาก  1 เป็น 4 แล้วส่งจุดเข้า Autocad อีกครั้ง เมื่อครบ 100%  ซูมดูอีกครั้ง จะเห็นตัวเลขอยู่ห่างกันพอประมาณ และสีตัวเลขเป็นไปตามช่วงค่าระดับที่ตั้งไว้ ส่วนตัวเลขทับกันตรงที่แนวตัดกัน ต้องอาศัยลบออกด้วยมือครับ

dense_points_level2

  • มาดูถ้าจุดที่ค่าระดับเป็นลบ ผมใช้ไฟล์ข้อมูลอีกไฟล์ ที่มีค่าระดับเป็นลบชัดเจน จะเห็นเครื่องหมายขีดเส้นใต้ตัวเลขหลัก

points_onshore

  • ตรวจสอบเลเยอร์ใน Autocad ที่ Layer properties ว่าโปรแกรมเขียนมาให้ตามที่ต้องการไหม ก็โอเคครับ

Autocad_layers_banding

 

เลือกรูปแบบที่กำหนดไว้แล้ว

  • ในแท็บ “Options” ตรง Annotation style จะมี “User define” ถ้าเลือกตัวนี้ ผู้ใช้จะเป็นคนกำหนดเอง แต่ถ้าเลือก Preset style จะเป็นสไตล์ที่โปรแกรมเตรียมไว้ให้ จะขอกล่าวถึง Preset Style #1 อันเป็นการเขียนเลขน้ำสไตล์กรมเจ้าท่าของไทย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตัวเลขจะเอียงไปด้านหลัง 15 องศา ตัวทศนิยมตัวเล็กกว่าแต่จะไม่ห้อย เขียนเสมอกับตัวเลขหลัก จุดทศนิยมใช้เครื่องหมายคอมม่า ที่ขีดตรงๆ ถ้าค่าเป็นลบ จะขีดเส้นใต้เครื่องหมายคอมม่า

spotfire_preset_style_1

  • เลือก  “Preset style #1” แล้วส่งจุดเข้าโปรแกรม Autocad อีกครั้ง ดูตัวเลขสไตล์ของกรมเจ้าท่า สวยงามครับ

points_doh_style

  • หรือตัวเลขติดลบบนฝั่ง เครื่องหมายลบใช้ขีดใต้เครื่องหมายคอมม่า

points_doh_style_onshore

  • ลองทดสอบดู “Preset Style #3” ตัวเลขจะหมุนทวนเข็ม 15 องศา

points_preset_style_3

สรุป

  • Spot Fire เป็นโปรแกรมตัวเล็กๆมาอำนวยความสะดวกในการเขียนตัวเลขค่าระดับ นอกจากใช้งานทางน้ำเป็นพิเศษ ผมว่าก็ดัดแปลงใช้งานบกได้ถ้าต้องการ สำหรับรุ่นต่อไปผมจะเขียนให้สามารถบันทึกไฟล์เป็น DXF ได้โดยไม่ต้องพึ่ง Autocad มากเกินไป โปรแกรมนี้ก็ยังแจกฟรีเหมือนเดิม นำไปใช้งานและแจกจ่ายได้ พบกันใหม่ครับ

SpotFire_About

2 thoughts on “The Return of Spot Fire ก้าวกลับมาอีกครั้งของ Spot Fire รุ่น 2.10 (ล่าสุด)”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *