ผมได้เริ่มจัดทำคลิปสอนการใช้งานโปรแกรมรวมเครื่องมือฉบับกระเป๋าสำหรับช่างสำรวจ ซึ่งจะเป็นการย่นระยะเวลาทำความเข้าใจกับการใช้โปรแกรมได้เร็วกว่า จากที่เดิมผมเคยอธิบายประกอบภาพแบบแห้งๆ
1.คลิปสอนการใช้งานทูลส์ Geo-UTM Converter
การแปลงพิกัดระหว่างระบบพิกัดฉาก UTM และค่าพิกัดภูมิศาสตร์ (Geographic) บนพื้นหลักฐาน เดียวกันคือ WGS84 สามารถแปลงพิกัดโดยทูลส์ตัวนี้ เพียงแค่ป้อนค่าพิกัดที่ต้องการแปลงแล้วทำการแปลงพิกัดได้อย่างง่ายดาย และมีความสะดวกในการปักหมุดลง Google Maps
2.คลิปสอนการใช้งานทูลส์ Transform Coordinates
การแปลงพิกัดข้ามพื้นหลักฐาน ตัวอย่างเช่นในเมืองไทยเรายังมีหน่วยราชการเช่น กรมที่ดิน ที่ยังใช้พื้นหลักฐาน Indian 1975 ที่ใช้ทรงรี Everest ดังนั้นการแปลงพิกัดมายังพื้นหลักฐาน WGS84 ที่หน่วยราชการส่วนใหญ่และบริษัทเอกชนใช้กัน จึงยังมีความจำเป็น ในงานก่อสร้างการตรวจสอบหมุดหลักเขตกรมที่ดินในพื้นหลักฐาน Indian 1975 ก็ยังต้องใช้
และในคลิปนี้ผมได้เพิ่มเติมการแปลงพิกัดในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย
3.คลิปสอนการใช้งานทูลส์ File Transform Coordinates
ถ้าต้องการแปลงพิกัดข้ามพื้นหลักฐานในกรณีมีหลายๆจุดถูกจัดเก็บเป็นไฟล์แอสกี้ที่ใช้ตัวคั่นเป็นเครื่องหมายคอมม่า (*.csv) สามารถใช้ทูลส์ตัวนี้ ผลลัพธ์สามารถจัดเก็บเป็นไฟล์ Excel (*.xlsx) และเช่นเคยผมเพิ่มเติมการแปลงพิกัดในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนด้วย
ไฟล์แรกที่นำมาทดสอบดาวน์โหลดได้ตามลิ๊งค์ boundary2-utm47n-indian1975.csv ไฟล์ที่สองที่นำมาทดสอบ CPI_TM3_H_195.csv
4.คลิปสอนการใช้งานทูลส์ Geoid Height
ความสูงจีออยด์ (Geoid Separation – N) คือความสูงต่างระหว่างทรงรีของ WGS84 กับพื้นผิวจีออยด์ (เทียบเท่ากับระดับน้ำทะเลปานกลาง)
ส่วนมากนำมาใช้ในการคำนวณรังวัด GNSS ที่เราได้ความสูงของหมุดจากการคำนวณงานรังวัดเป็นความสูงเทียบกับทรงรี (Ellipsoid Heigh – h) แต่ในการใช้งานเราต้องการความสูงเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง (Orthometric Height – H) ผ่านทางสูตร h = H + N หรือ H = h – N
ไฟล์ที่นำมาทดสอบกับทูลส์ Geoid Height ดาวน์โหลดได้ตามลิ๊งค์นี้ tgm2017_test_points.csv
5.คลิปสอนการใช้ทูลส์ Point Scale Factor
เป็นที่ตระหนักกันดีว่าแผนที่ทั้งหลายที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันที่ใช้เส้นโครงแผนที่ (projection) จะมีสเกลที่ไม่คงที่ตลอดทั้งแผ่น ไม่สามารถกำจัดให้หมดไปได้ ทูลส์ Point Scale Factor สามารถคำนวณหาสเกลแฟคเตอร์ให้ผู้ใช้งานได้รับความสะดวก สามารถนำตัวเลขไปปรับใช้หน้างานได้ ถ้าพื้นที่การทำงานไม่ใหญ่มากนักขนาด 2 กม. x 2 กม. ก็พอไหวแต่พื้นที่ค่าระดับไม่ควรสูงต่ำกว่ากันมากนัก วิธีการคือหาค่าเฉลี่ยความสูงพื้นที่หน้างานเทียบกับรทก. แล้วใช้จุดกึ่งกลางพื้นที่ (centroid) แล้วนำค่าพิกัดมาคำนวณ
ส่วนเส้นโครงแผนที่ความคลาดต่ำหรือความเพี้ยนต่ำ (Low Distortion Projection – LDP) เป็นเส้นโครงแผนที่ที่นำมาปรับใช้งานโดยที่หลักการคือทำให้ค่าความเพี้ยนหรือความต่างระหว่างระยะทางจริงในสนามกับระยะทางบนแผนที่หรือแบบ drawing มีความต่างกันน้อยที่สุด
ความปรารถนาของช่างสำรวจ ช่างก่อสร้างต้องการระยะทางบนแผนที่แล้วไปวัดจริงๆในสนามหน้างานได้เท่ากัน เพื่อความสะดวกในการทำงาน ลดความผิดพลาด พูดง่ายๆคือต้องการทำงานแบบ plane survey
ดังนั้น LDP มาตอบโจทย์ตรงนี้ได้ โดยที่ค่าความเพี้ยนหรือระยะทางจริงหน้างานกับบนแผนที่หรือแบบ drawing ต้องต่างกันน้อยมาก ตัวเลขกลมๆคือ 20 ppm คือหนึ่งกม.ระยะทางต้องต่างกันไม่เกิน 20 มม. ถ้า 100 เมตรก็จะต่างกัน 2 มม. ในทางก่อสร้างยอมรับได้ เพราะความผิดพลาดของกล้องสำรวจหรือเทปเหล็กที่ดึงวัดระยะทางกันอาจจะมากกว่านี้
6.คลิปสอนการใช้ทูลส์ Line Scale Factor
ในกรณีพื้นที่เล็กๆ สามารถใช้ทูลส์ Point Scale Factor มาช่วยได้เป็นค่าตัวแทน แต่ในพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 4 กม. x 4 กม. จะต้องหาค่าเฉลี่ย หัว กลางและท้าย แล้วนำมาหาค่าเฉลี่ยโดนใช้กฎซิมป์สัน ส่วนการคำนวณจุดต่อจุดเหมือนกันกับ Point Scale Factor
7.คลิปสอนวิธีการใช้ทูลส์ Area
การคำนวณหาพื้นที่ของจุดรอบรูปแปลงที่ดินไม่ใช่เรื่องยากใช้การคูนไขว้หรือฝรั่งเรียกว่าสูตรเชือกผูกร้องเท้า (Shoelace formula) แต่ที่มันยากขึ้นมาคือถ้าระบบพิกัดที่ใช้เป็นระบบพิกัดฉากเช่นยูทีเอ็มไม่ใช่ plane survey เพราะจะมีสเกลแฟคเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้องถึง 2 สเกลคือ Elevation Scale Factor (ESF) ที่เกี่ยวพันกับความสูง และ Grid Scale Factor (GSF) ที่เกี่ยวกับความเพี้ยนเนื่องจากใช้เส้นโครงแผนที่ (ของอยู่ทรงกลมหรือทรงรีแต่มาคลี่เป็นแผ่นเรียบย่อมมีความเพี้ยน) ที่ประกอบกันหรือคูนกันอยู่
ถ้าเราไม่ใช่สเกลแฟคเตอร์เข้ามาใช้ จะทำให้พื้นที่ที่ดินอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าความเป็นจริงซึ่งขึ้นอยู่กับสเกลแฟคเตอร์ตรงนั้น
คลิปสอนการใช้งานทูลส์อื่นๆจะทยอยอัพโหลดลงมาเป็นระยะๆ โปรดติดตามกันครับ